Skip to main content

“ย้อนกลับไปเกือบ 200 กว่าปีโดยประมาณ” ลุงคนหนึ่งได้เล่ากับผม ที่ชุมชนที่อยู่กลางหุบเขาแห่งนี้ได้เริ่มการปลูกชากันชาวปกาเกอะญอในชุมชนบ้านห้วยหินลาดในได้ค้นพบกับชาชนิดหนึ่งในเขตบริเวณป่าลึกของชุมชน และได้นำกลับมาปลูก พร้อมขยายพันธ์ในเขตป่าของชุมชน จนมีการดูแลสวนชากันมาจากรุ่นสู่รุ่นต่อๆกันมา “ตั้งแต่จำความได้ลุงก็เติบโตกับการที่ครอบครัวมีสวนชาในความดูแล” ลุงนิเวศ บอก

การทำชาของลุงนิเวศเริ่มต้นจากสืบทอดมาจากบรรพบรุษ โดยที่ลุงนิเวศ ดูแลรักษา ต่อการทำไร่ชา จนชุมชนเริ่มมีแนวคิดในการจัดการป่า และมีการปรับรูปแบบป่าเป็นป่าวนเกษตร ซึ่งเป็นการจัดการผสมผสานให้ป่ามีความหลากหลาย เช่น การปลูกพืชต่างระดับ การปลูกชาแซมเข้าท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ ลุงนิเวศได้บอกผมว่า “ลุงได้พบว่าการปลูกชาโดยการขุดร่องหรือแนวให้ต้นชา จะช่วยทำให้ยอดชามีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น”

ขณะที่ได้เดินสำรวจป่าชุมชน วนเกษตรนั้น ได้เจอกับลุงคนหนึ่งชื่อทาแก ซึ่งแกกำลังเลี้ยงควายอยู่ในป่า ผมจึงขอให้ลุงช่วยสาธิตการเก็บให้ดูหน่อย ลุงแกเด็ดชาพร้อมบอกว่า “การเก็บชามีหลายระดับ ซึ่งแต่ละระดับการเก็บจะให้รสชาติ และราคาที่แตกต่างกัน”

เมื่อถึงช่วงประมาณจะเข้าเดือนมีนาคมก็จะเป็นฤดูกาลเก็บชา ซึ่งการเก็บยอดนั้นจะทำให้ต้นชาสามารถแตกกิ่งยอดเพิ่มขึ้น จึงทำให้สามารถเก็บชาได้เรื่อย ๆ ช่วงเวลาประมาณ 5 เดือน จนถึงช่วงเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าเราไม่เก็บยอดใบชาเลย ยอดชาจะไม่สามารถแตกกิ่งใหม่ได้ ทำให้เราสามารถเก็บยอดใบชาได้เพียงครั้งเดียว หลังจากที่เก็บใบชาเสร็จแล้วลุงนิเวศก็จะนำใบชาที่ได้กลับมาที่บ้านเพื่อทำการ Process

การ Process ชาฉบับลุงนิเวศ ผมถามลุงว่า “ลุงนิเวศมีการนำมาทำหรือว่าProcessยังไงบ้างครับ” “ลุงเนี่ยะนะ ก็จะเอาชามาทำให้สุกอ่อนๆ ให้ยอดใบชามีความเหนียวขึ้น โดยการนำยอดใชชาสดที่ได้มาต้มก่อน แล้วหลังจากนั้นลุงก็จะเอาใบชาที่ต้มแล้วมานวดเพื่อให้มีการม้วนตัว แล้วก็เอาไปตากแดดสัก 1 วัน ถ้าแดดดีนะ แต่ถ้าแดดไม่ค่อยดีก็อาจต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นตามไป พอตากให้แห้งแล้ว อาจจะเอาไปคั่วอีกรอบเพื่อเพิ่มให้มีกลิ่นที่หอมขึ้น” ลุงนิเวศตอบผม เราจึงจะเอาชาไปชงเพื่อเริ่มดื่มด่ำกับมนต์เสน่ห์ของอัสสัมแห่งหินลาดใน

หลังจากนั้นผมได้ขออนุญาตตามลุงนิเวศไปชิมชาที่บ้าน ลุงเริ่มต้มน้ำสำหรับการชงชา ผมกับเพื่อนที่ตามกันถึงบ้านลุงนิเวศ ก็ได้เขามานั่งล้อมเตาไฟบทสนทนาต่างเริ่มหลั่งไหลระหว่างการดื่มของเรา

สำหรับผมนะครับ “นี่แหละคือมนต์เสน่ห์ของชาอัสสัมที่แสนพิเศษ” ณ หมู่บ้านห้วยหินลาดใน