เมื่อยามย่างเข้าสู่ฤดูฝน ต้นไม้ พืชพันธุ์ และป่าเขาเหมือนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง หญ้าสีน้ำตาลในทุ่งนาที่แห้งแล้งจากหน้าร้อนที่ผ่านมา กลับมีสีเขียวชอุ่ม ในนาข้าวเริ่มมีน้ำขังจากสายฝนที่ตกลงมา เพื่อรอการไถพรวน เสียงกบ เริ่มร้องเหมือนเป็นการบอกว่าต้องเตรียมตัวทำนาได้แล้วนะ เมื่อฝนมาอย่างต่อเนื่อง ชนเผ่าปกาเกอะญอบ้านแม่ยางมิ้น ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ชาวบ้านจะเริ่มเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นออกมาลับคมไม่ว่าจะเป็นมีด จอบและเสียม หลังจากนั้นเสียงรถไถเดินตามก็จะเริ่มดังขึ้นจากบ้านหลังหนึ่งไปอีกหลังหนึ่ง เพื่อเตรียมไถพลิกดินในทุ่งนา เมื่อผู้ใหญ่เตรียมตัวทำนา เด็กๆก็เตรียมตัวเพื่อเรียนรู้และไปเล่นในทุ่งนาเช่นกันเพราะในฤดูนี้ เด็กๆจะชอบมากเพราะจะได้เล่นน้ำ เล่นโคลน และได้จับปลาในนา
ประเภท: บทความ
ภูมิภาค: เอเชีย
ประเทศ:•ประเทศไทย
หัวข้อ:ภู มิปัญญาดั้งเดิมและท้องถิ่น สิทธิในที่ดินและทรัพยากร
พันธมิตร : สมาคมการศึกษาและวัฒนธรรมชนเผ่าอินเตอร์ภูเขาในประเทศไทย (IMPECT)
ย้อนไปเมื่อ 50 ปีก่อน จากเสียงรถไถนา คงเป็นเสียงกระดิ่งไม้ของควาย และเสียงไล่ต้อนควายไปยังทุ่งนาเพื่อเตรียมไถนา เดิมทีการทำนายังมีไม่มากนัก มีแต่การทำไร่หมุนเวียนเพื่อปลูกข้าวไร่ และพืชพันธ์อื่นๆ เช่น พริก ผักอีหลืน ฟักทองและแตงกวาดอย แต่เนื่องด้วยสถานณ์การที่เปลี่ยนไปไม่สามารถทำไร่หมุนเวียนได้ รุ่นปู่ทวดจึงต้องหาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อทำนา เพราะข้าวที่มีเริ่มไม่พอกิน ทำให้ต้องลงแขกกันทำนาจากสองมือและจอบที่มี เริ่มตั้งแต่หาพื้นที่ หาแหล่งน้ำขุดร่องน้ำเหมือง ปั้นคันนา และเตรียมควายสำหรับไถนา ก่อนหน้านั้นจะมีการสอนควายให้ไถนาก่อน แล้วให้เริ่มไถนาจริงๆ คุณย่าบอกว่าช่วงเวลานี้แหละที่ความสนุกของเด็กจะเริ่มขึ้น เพราะว่าเมื่อควายไถนาแล้วจะมีการดองขี้ไถเพื่อให้หญ้าตาย เมื่อดองนาไว้จะเริ่มมีกบมาวางไข่ และมีปลาเล็กปลาน้อยมาอยู่ พอใกล้ถึงเวลาที่จะต้องไถนาอีกครั้ง ผู้หญิงและเด็ก ๆ จะเตรียมตัวจับปลาในนา การหาปลาในนานั้นเราจะใช้เครื่องจักสารจากไม้ไผ่ในการช้อนตักปลา ที่มีชื่อเรียกว่า “แอะแซะ” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สืบทอดกันมา จะมีทั้งขนาดเล็กและใหญ่ แล้วแต่ความชอบของแต่ละคน ปลาในนานอกจากปลาซิว และลูกอ๊อดแล้ว ก็จะมีปลาตัวใหญ่ด้วย เช่น ปลาก้าง ปลาช่อน และปลาไหล การไล่จับปลาในนาข้าวนั้นต้องอาศัยทักษะเฉพาะตัวของแต่ละคน นอกจากนี้ยังมีปูนา และแมงอีนิ่ว ซึ่งเป็นลูกอ๊อดของแมงปอ ปีนี้จะมีข้าวพอกินหรือเปล่าก็ขึ้นอยู่กับการทำนารอบนี้ ทุกคนในครอบครัวเลยต้องช่วยกันทำอย่างเต็มที
ปัจจุบันด้วยผู้คนมีความรู้ด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้นการจะทำนาแบบเดิมก็คงเป็นเรื่องยาก และล่าช้าเกินไป เริ่มมีการใช่สารเคมีในนาข้าวเพราะศัตรูข้าวอย่างหอยเชอรี่ที่ขยายพันธุ์ได้ง่ายมีจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้สัตว์น้ำที่เคยอยู่ในนาได้รับผลกระทบ และลดจำนวนลง เด็กรุ่นใหม่ก็ไม่สนใจที่จะไปนากับพ่อแม่เหมือนแต่ก่อนเพราะถึงไปก็ไม่มีกิจกรรมให้ทำ ไม่มีปลาให้จับ นอกจากนี้ก็มีสิ่งอื่น ๆ ที่น่าสนใจมากกว่าในนาข้าว ทำให้วิถีชีวิตในวัยเด็กแบบเมื่อ 20 ปีก่อนไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว อาจจะมีอยู่บ้างเป็นบางครั้งที่ผู้ใหญ่เล่าให้เด็กฟัง ทำให้ดูและเด็ก ๆ ก็สนใจที่จะเรียนรู้และลองทำเหมือนพ่อแม่ตอนเด็ก ๆ คงจะดีไม่น้อย ถ้าการทำนาแบบดั้งเดิมไม่ส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่และความอยู่รอดของครอบครัว